บทความบริการวิชาการ โครงการ BCG ปีที่ 2 การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนผ่าน BCG

โครงการ BCG ปีที่ 2 การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนผ่าน BCG

        เศรษฐกิจของประเทศไทยที่เติบโตในปีที่ผ่านมา เกิดจากการใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งต้องแลกมากับความเสื่อมโทรมและการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็น “วาระแห่งขาติ” ตั้งแต่ปี 2564

        จากแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economic Model) มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม, การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม และการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาภายใต้ 4+1 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ, การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

เกษตรกับการขับเคลื่อน BCG

        คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ “การเชื่อมโยงการผลิตฟาร์มสาธิตสู่การแปรรูป และการพัฒนาตลาดเกษตรสีเขียว ภายใต้โครงการพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามแนวทาง BCG Economic Model ปีที่ 2 โดยมีนายทัพไทย หน่อสุวรรณ นักวิทยาศาสตร์เกษตร ศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้รวบรวมและเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ภายในของศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร (ไร่แม่เหียะ) ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (AIRID) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) และถาบันพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI) ในการมุ่งพัฒนาขับเคลื่อนด้านการเกษตร อาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เรื่อง BCG Model เพื่อรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ความร่วมมือของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

        การดำเนินการโครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องจากปีแรก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตรที่ปลอดพิษ สร้างอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมเกษตรกรปลูกและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัย เกิดตลาดปลอดพิษ อาหารปลอดภัยที่เป็นส่วนกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (AgTrace) เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช.

        นอกจากนี้ ขยะและเศษอาหารที่เหลือทิ้งจากตลาดได้มีการนำไปบริหารจัดการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานทดแทน อาทิ แก๊ส CNG (Compressed Natural Gas) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนยานพาหนะขนส่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ขสมช.) ที่ดำเนินกิจกรรมโดยสถาบันพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI) ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้รับเศษอาหารจากโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรับมูลวัว ซึ่งสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมจากภาคสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มช. เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอแก๊สอีกด้วย

        กระบวนการจัดการขยะชีวมวล นอกจากจะได้แก๊สชีวภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการคมนาคมแล้ว ยังได้กากตะกอนเศษเหลือและน้ำตะกอนแขวนลอยที่สามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งหน่วยงานที่นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อคือ ศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. โดยนำไปต่อยอดในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการปลูกและเสริมธาตุอาหารให้แก่ผักปลอดภัยทั้งระบบเปิดและระบบการปลูกพืชในโรงเรือนเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชผักของศูนย์วิจัยฯ และนำไปผลิตเป็นวัสดุปลูกเพื่อการจำหน่าย นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ได้นำน้ำตะกอนแขวนลอยไปใช้ในการเพิ่มธาตุอาหารในแปลงปลูกข้าวโพดของคณะเกษตรศาสตร์ มช. ต่อมาจะนำผลผลิตที่เกิดจากการผลิตพืชผักผลไม้แบบปลอดภัยนี้ไปต่อยอดในการแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และนำไปวางจำหน่ายภายในตลาดปลอดพิษ อาหารปลอดภัย เพื่อส่งคุณค่าต่อไปยังผู้บริโภค

        ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้จากการผลิตที่ปลอดภัย เช่น มะม่วง ข้าวโพดหวาน จะถูกส่งต่อมายังอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร โดยมะม่วงนำไปแปรรูปเป็นเจลลี่เสริมคอลลาเจน และข้าวโพดถูกนำมาแปรรูปเป็นคุ้กกี้โปรตีนสูง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมาย

        นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง BCG ผ่านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เปิดให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงเรียน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจทั่วไป ได้มาเรียนรู้เรื่องการเกษตรปลอดภัย รวมทั้งศึกษาการดำเนินงานภายใต้โครงการ BCG ทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

        จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานทั้งหมดของโครงการจะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ซึ่งเป็นการนำเศษเหลือจากกิจกรรมต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ต่อแบบหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมสร้างความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มุ่งสู่ความมั่นคง และยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ